เตรียมตัวก่อนซื้อบ้าน มาดูกันว่าซื้อบ้านต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง

สำหรับใครที่กำลังวางแผนอยากซื้อบ้านสักหลังไม่ว่าจะเป็นทาวน์โฮม บ้านแฝด หรือบ้านเดี่ยวก็ตาม การวางแผนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจอย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คำถามจึงหนีไม่พ้นถ้าซื้อบ้านต้องจ่ายอะไรบ้าง? ใช้เงินประมาณเท่าไหร่? การทำความเข้าใจรายละเอียดเหล่านี้ย่อมช่วยให้คุณมีบ้านในฝันพร้อมเข้าอยู่และผ่อนชำระได้แบบไม่ต้องกังวลใจ
ซื้อบ้านต้องจ่ายอะไรบ้าง? เช็กได้เลย
1. เงินดาวน์
เงินดาวน์ คือ เงินก้อนแรกที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อผู้ซื้อต้องการซื้อสินค้าราคาสูง ๆ ในรูปแบบผ่อนชำระ เช่น บ้าน ซึ่งปกติแล้วการซื้อบ้านทางโครงการมักกำหนดจำนวนเงินไว้ตั้งแต่ 5 – 30% ของราคาบ้าน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดเงินดาวน์ของแต่ละโครงการมีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น อาชีพ อายุ รายได้ รายการเดินบัญชี เป็นต้น
2. ค่าจองและค่าทำสัญญา
ค่าธรรมเนียมเบื้องต้นที่ต้องจ่ายให้โครงการหรือเจ้าของบ้าน (คล้ายกับเงินมัดจำ) เพื่อบ่งบอกถึงความตั้งใจในการจะซื้อบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งปกติแล้วมักมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น หรือหลักแสน (ตามข้อกำหนดโครงการ) และหากคุณเปลี่ยนใจไม่อยากซื้อแล้วส่วนใหญ่มักไม่ได้รับเงินคืน
3. ค่าประเมินราคาหลักประกัน
ค่าบริการที่ต้องจ่ายให้ธนาคารเมื่อทำสัญญากู้เงินสำหรับการที่ธนาคารส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินราคาบ้าน ราคาที่ดิน เอาไว้เป็นข้อมูลประกอบสำหรับขอสินเชื่อ ส่วนใหญ่มักอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาท
4. ค่าธรรมเนียมสินเชื่อบ้าน
เช่น ค่าจัดการเงินกู้ ค่าประกันสินเชื่อ ฯลฯ คล้ายกับค่าบริการที่ธนาคารดำเนินการด้านสินเชื่อให้กับผู้กู้ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเรียกเก็บเพื่อสร้างความน่าสนใจให้คนซื้อบ้านอยากกู้กับธนาคารของตนเอง หรือถ้ามีการเรียกเก็บมักไม่เกิน 1% ของวงเงินกู้
5. ค่าโอนกรรมสิทธิ์
อัตราค่าธรรมเนียมการโอนซึ่งกรมที่ดินเป็นผู้เรียกเก็บสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของโครงการมาเป็นชื่อผู้ซื้อ วงเงินมักอยู่ราว 2 – 3% ของราคาบ้าน ทั้งนี้การจ่ายอาจเป็นได้ทั้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ่ายเองทั้งหมด หรือแบ่งกันจ่ายคนละครึ่ง
6. ค่าจดจำนอง
ค่าธรรมเนียมสำหรับการซื้อบ้านที่ต้องขอสินเชื่อจากธนาคาร ปกติแล้วกรมที่ดินมักเรียกเก็บอยู่ที่ 1% ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
7. ค่าภาษีที่เกี่ยวข้องในการซื้อบ้าน
ในส่วนนี้จริง ๆ แล้วผู้ขายต้องเป็นฝ่ายจ่ายทั้งหมด แต่ก็อาจมีเงื่อนไขบางประการที่ผู้ซื้อต้องรับรู้หรือเป็นข้อกำหนดว่าต้องจ่ายโดยผู้ซื้อ
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ซื้อบ้านจากโครงการ) จะมีค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมิน (ใช้ราคาที่สูงกว่า) โดยผู้ขายต้องถือครองบ้านไม่เกิน 5 ปี และมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่เกิน 1 ปี
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ซื้อบ้านมือสอง) จะขึ้นอยู่กับราคาขายหรือราคาประเมินจากกรมที่ดิน ทั้งนี้ยังมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาถือครองสินทรัพย์โดยมีผลต่อการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ตั้งแต่การถือครอง 1 ปี หักค่าใช้จ่ายได้ 92% ไปจนถึง 8 ปี หักค่าใช้จ่าย 50%
- อากรแสตมป์ ปกติแล้วผู้ขายต้องจ่ายอากรแสตมป์ 0.5% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน (ใช้ราคาที่สูงกว่า) ให้กับกรมสรรพากร แต่ทั้งนี้หากจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วจะไม่ต้องเสียค่าอากรแสตมป์
8. ค่าบำรุงรักษาและค่าส่วนกลาง
กรณีเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดของโครงการต่าง ๆ จะต้องมีการเรียกเก็บค่าบำรุงรักษาและค่าส่วนกลางเพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้บริหารจัดการในนิติบุคคลของโครงการ สร้างประโยชน์ส่วนรวมสำหรับผู้อยู่อาศัย เช่น ค่าจ้างนิติบุคคล ค่าดูแลบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ
9. ค่าตกแต่งและย้ายเข้าอยู่
เช่น ค่าตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ ค่าขนย้าย ฯลฯ ขึ้นอยู่กับงบที่แต่ละคนวางเอาไว้ หรืออยากได้บ้านสไตล์ไหนก็วางแผนกันได้เลย
10. ค่าประกันภัยบ้าน
ค่าประกันอัคคีภัยหรือประกันบ้านที่ธนาคารส่วนใหญ่มักกำหนดให้ทำเพื่อคุ้มครองกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ไฟไหม้ ส่วนใหญ่มักเรียกเก็บที่ 0.1% ของราคาซื้อ-ขาย
สิ่งเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนตัดสินใจซื้อบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านของโครงการหรือบ้านมือ 2 จากผู้ขายบุคคลทั่วไปก็ตาม ลองประเมินว่าคุณมีความพร้อมอย่างไร ไหวกับราคาบ้านเท่าไหร่ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายหนักเกินไปเมื่อตัดสินใจซื้อและเข้าอยู่อาศัยในอนาคต